วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

อภินันท์ สุธรรมา

ดนตรียุคคลาสสิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางมาจาก ยุคคลาสสิก (ดนตรี))
ยุคคลาสสิก (อังกฤษ: Classical period) เป็นยุคของดนตรีระหว่าง ค.ศ.1750-1820 ดนตรีมีการเปิดกว้างสู่ประชาชนเป็นดนตรีนอกโบสถ์ (secular music) มากขึ้น ดนตรียุคคลาสสิกมีลักษณะความเป็นจริง มีความสมดุล และแจ่มชัดในรูปแบบ ในยุคนี้ดนตรีบรรเลงมีความเด่นกว่าเพลงร้อง ดนตรียุคคลาสสิกเป็นดนตรีบริสุทธิ์ (absolute music) คือ ดนตรีที่ไม่มีจินตนาการอยู่เบื้องหลัง ไม่มีบทกวีประกอบ เป็นดนตรีที่มีแต่เสียงดนตรีบริสุทธิ์ ตรงข้ามกับดนตรีในยุคโรแมนติกที่เป็นดนตรีพรรณนา (program music) คือดนตรีที่มีเรื่องราว ยุคนี้มีกรุงเวียนนาของออสเตรียเป็นศูนย์กลางของดนตรี

ลักษณะดนตรียุคคลาสสิก

ในยุคคลาสสิกเลิกนิยมการสอดประสานของทำนอง (Counterpoint) แต่หันมานิยมการใส่เสียงประสานแบบโฮโมโฟนี (Homophony) คือการเน้นทำนองหลักเพียงแนวเดียว โดยมีแนวเสียงอื่นประสานให้ทำนองไพเราะมากขึ้น มีแนวประสานเป็นคอร์ด หรืออาร์เพจจิโอ (arpeggio) หลายแนวที่มีจังหวะคล้ายกัน โดยเลิกใช้แนวเบสต่อเนื่อง (basso continuo) และความสำคัญของการด้นสด (Improvisation) เริ่มหมดไปในยุคนี้ เพราะดนตรีส่วนมากมีการเขียนเสียงประสานครบถ้วน คีตกวีจะระบุวิธีการบรรเลงอย่างชัดเจน
เกิดบทเพลงลักษณะใหม่ๆ ขึ้นในยุคนี้ คือ ซิมโฟนี คอนแชร์โต และโซนาตา ลักษณะการผสมวงมีกำหนดแน่นอนว่าเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ คือเป็นวงแชมเบอร์มิวสิก หรือวงออร์เคสตรา เพลงบรรเลงนิยมประพันธ์กันมากขึ้น เพลงร้องยังคงมีการประพันธ์อยู่เช่นเดิม โอเปร่า เป็นที่นิยมชมกันมาก ผู้ประพันธ์หลายคนจึงประพันธ์แต่โอเปร่าเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะของโอเปร่าในยุคนี้จะเน้นเรื่องศิลปะการแสดงมากขึ้น มิใช่เน้นเพียงการร้องเท่านั้น
เครื่องดนตรีในยุคนี้ได้รับการพัฒนามากขึ้น ในวงออร์เคสตรามีการใช้เครื่องดนตรีครบทุกประเภท การใช้เครื่องดนตรีในยุคคลาสสิกจะพบว่าใช้เปียโนเป็นส่วนมาก ไม่ค่อยมีการใช้ฮาร์ปซิคอร์ดอีก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีการใช้เครื่องคลาริเน็ต ฟลูต และบาสซูน


คีตกวีในยุคคลาสสิก

โจเซฟ ไฮเดิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางมาจาก ฟรานซ์ โจเซฟ ไฮเดิน)

ภาพวาดโจเซฟ ไฮเดิน
ฟรานซ์ โยเซฟ ไฮเดิน (Franz Joseph Haydn) เป็นคีตกวีชาวออสเตรียในยุคคลาสสิค เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๓๒ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ [๓๑ พฤษภาคม]] ค.ศ. ๑๘๐๙ เนื่องจากเป็นคีตกวีในความดูแลของราชสำนัก จึงได้ประพันธ์บทเพลงไว้เป็นจำนวนมาก ได้ชื่อว่าเป็น บิดาแห่งซิมโฟนี และ บิดาแห่งสตริงควอเต็ต
นอกจากนั้น ฟรานซ์ โยเซฟ ไฮเดิน ยังเป็นพี่ของ โยฮัน มิคาเอล ไฮเดิน (Johann Michael Haydn) คีตกวีคนสำคัญอีกท่านหนึ่งของออสเตรียอีกด้วย

ประวัติ

วัยเด็ก


แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองที่ไฮเดินเคยอาศัยอยู่
โจเซฟ ไฮเดิน เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองโรห์เรา ประเทศออสเตรีย ใกล้พรมแดนประเทศฮังการี บิดาคือมาเธียส ไฮเดิน เป็นช่างทำรถเทียมม้าที่หลงใหลในดนตรี ส่วนมารดาคือมาเรีย เป็นแม่ครัวในบ้านของคหบดีผู้ครองเมืองโรห์เรา ไฮเดินเป็นบุตรคนที่ ๒ จากทั้งหมด ๑๒ คน ทั้งบิดาและมารดาของเขาไม่เคยเรียนรู้เรื่องตัวโน้ตมาก่อน แต่มาเธียส บิดาของโจเซฟก็เป็นนักดนตรีพื้นบ้านที่บรรเลงได้ไพเราะอยู่ไม่น้อย ซึ่งได้มาจากการเรียนรู้ ฮาร์ป ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ ชีวิตวัยเด็กของเขาจึงเติบโตมากับครอบครัวนักดนตรีอย่างแท้จริง และมักจะมาร้องเพลงด้วยกันกับครอบครัวและเพื่อนบ้านอยู่บ่อย ๆ[1]
เมื่อไฮเดินอายุได้ ๖ ขวบ โยฮันน์ มัธเธียส ฟรางค์ (Johann Mathias Frank) นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่และเป็นครูสอนดนตรีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งแห่งเมืองไฮ น์บูร์ก (Hainburg) ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับบิดาไฮเดิน เดินทางมาทำธุระที่โรห์เรา และแวะมาเยี่ยมครอบครัวไฮเดิน เมื่อเขาได้ยินเด็กน้อยไฮเดินร้องเพลงก็เกิดความสนใจ จนเอ่ยปากกับบิดาของไฮเดินว่า หากเด็กน้อยคนนี้ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกทางแล้วจะเป็นผู้มีชื่อเสียงทีเดียว ฟรางค์ได้หว่านล้อมบิดาของไฮเดินเพื่อขอรับเด็กน้อยไปอยู่ในความอุปการะของ เขา โดยสัญญาว่าจะให้การศึกษาและเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ด้วยความรักอนาคตของลูกชาย แม้บิดาของเขาจะแสนรักและอาลัยเพียงใดก็ตาม เนื่องจากบิดามารดาของไฮเดินเห็นมานานแล้วว่าลูกชายของพวกเขามีพรสวรรค์ทาง ดนตรีอย่างมาก และรู้ว่าหากอยู่ที่เมืองโรห์เราต่อไป เขาคงจะไม่มีโอกาสได้ซึมซับดนตรีอย่างจริงจัง จึงต้องตัดใจมอบลูกชายให้ไปอยู่กับฟรางค์ เพื่อให้เติบโตเป็นนักดนตรีอย่างแท้จริง[2] ดังนั้น ไฮเดินจึงได้ออกเดินทางกับฟรางค์ไปยังเมืองไฮน์บูร์กซึ่งอยู่ห่างจากบ้านออก ไป ๗ ไมล์ และจากนั้นเขาก็ไม่เคยได้กลับมาอาศัยอยู่กับบิดามารดาอีกเลย
ชีวิตในบ้านของฟรางค์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับไฮเดิน เขาต้องตกระกำลำบากกับความหิว[3] และยังต้องทนอับอายกับการใส่เสื้อผ้าที่สกปรกตลอดเวลา[4] อย่างไรก็ตาม เขาได้อดทนอยู่เพื่อเริ่มเรียนดนตรีที่นั่น จากนั้นเขาก็สามารถเล่นฮาร์ปซิคอร์ดและไวโอลินได้ จากนั้นชาวเมืองไฮน์บูร์กต่างก็สะดุดหูกับโซปราโนอันแหลมสูงของไฮเดินในคณะประสานเสียงของโบสถ์ ทำให้ใครก็ตามที่ได้ฟังเสียงร้องของไฮเดินจะประทับใจในเสียงของเขา
สองปีต่อมา (ในปี ค.ศ. ๑๗๔๐) เมื่อไฮเดินอายุได้ ๘ ขวบ เกออร์ก ฟอน โรธเธอร์ (Georg von Reutter) ผู้อำนวยการดนตรีของมหาวิหารเซนต์สตีเฟนในเมืองเวียนนา ได้สนใจในเสียงร้องของไฮเดินมาก อันที่จริงแล้วโรธเธอร์เป็นคนที่จะเดินทางค้นหาเด็ก ๆ นักร้องประสานเสียงในโบสถ์ที่มีเสียงอันไพเราะอยู่เสมอ ไฮเดินสามารถผ่านการทดสอบเสียงร้องกับโรธเธอร์ และจากนั้นก็ได้ย้ายมากรุงเวียนนา อันเป็นที่ทำงานของเขา ๙ ปีในฐานะนักร้องประสานเสียงของมหาวิหาร และในสี่ปีหลังสุดก็ได้ร่วมร้องเพลงกับมิคาเอล น้องชายของเขาที่นี่อีกด้วย ด้วยความสามารถในการร้องอันเป็นเลิศนี้เอง ทำให้เขาได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้านักร้องนำหมู่[5]
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของไฮเดินก็ไม่ต่างกับตอนอยู่กับฟรางค์ เนื่องจากโรธเธอร์ไม่ได้สนใจว่าไฮเดินมีอาหารกินทุกมื้อหรือไม่ ทำให้ชีวิตไฮเดินในช่วงนี้ได้แต่เฝ้ารอการออกแสดงต่อหน้าผู้ชมที่มีฐานะ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในบางครั้ง คณะนักร้องจะมีโอกาสได้กินอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้มีจิตศรัทธาให้มา[6] นอกจากนั้น โรธเธอร์ก็แทบจะไม่ได้สนใจว่าจะให้นักร้องประสานเสียงของเขาได้รับการศึกษา วิชาดนตรีแต่อย่างใดเลย ถึงกระนั้น มหาวิหารเซนต์สตีเฟนนี้ก็เคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางดนตรีชั้นนำของยุโรป มักจะมีเพลงใหม่ ๆ จากคีตกวีชั้นนำออกแสดงอยู่หลายครั้ง จึงเป็นโอกาสที่ไฮเดินจะได้เรียนดนตรีจากการสังเกตนักดนตรีระดับมืออาชีพของ ที่นี่ ทำให้ต่อมา หลังจากที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองที่มหาวิหารแห่งนี้ เขาจึงได้เติบโตเป็นนักดนตรีอาชีพที่มีความสามารถในที่สุด[7]

ต่อสู้กับชีวิตนักดนตรีพเนจร


มหาวิหารเซนต์สตีเฟน กรุงเวียนนา
ต่อมาในปี ๑๗๔๙ เมื่อไฮเดินอายุ ๑๗ ปี เขาก็ไม่สามารถร้องคอรัสเสียงสูงได้อีกต่อไป เนื่องจากเสียงที่เคยแจ่มใสแตกเป็นเสียงห้าวเครือ ซึ่งตามกฎเขาจะต้องออกจากโรงเรียน แต่ครูทั้งหลายยังรักเขาอยู่จึงให้อยู่ต่อไป แต่แล้ววันหนึ่งขณะที่เขาเห็นหางเปียของเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างหน้า ด้วยความคะนองเขาจึงเอากรรไกรที่ซ่อนไว้มาตัดหางเปียเพื่อน พอเด็กคนนั้นรู้ว่าหางเปียของตัวหายไปก็ร้องโวยวายขึ้น เมื่อครูทราบจึงโกรธมาก ไฮเดินจึงต้องออกจากมหาวิหารเซนต์สตีเฟนด้วยเหตุนี้[8]
ในที่สุดเขาก็ถูกไล่ออกจากวง ทำให้กลายเป็นคนพเนจรไม่มีบ้านอยู่[9] มีชีวิตที่ลำบาก ความเป็นอยู่แร้นแค้น แต่ยังโชคดีที่ได้รับความเชื่อเหลือจากโยฮันน์ มิคาเอล สปางเลอร์ (Johann Michael Spangler) ที่ให้ไฮเดินมาอาศัยอยู่ที่ห้องใต้หลังคา ทั้ง ๆ ที่ลำพังแล้ว บ้านของสปางเลอร์ก็มีคนอาศัยไม่น้อย ไฮเดินได้มาอาศัยอยู่กับสปางเลอร์ระยะหนึ่ง จึงทำให้เขาเริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักดนตรีพเนจรได้แล้ว
ในช่วงมรสุมของชีวิตนี้ ไฮเดินทำงานหลากหลายมาก ทั้งครูสอนดนตรี, นักดนตรีร่วมบรรเลงกับนักดนตรีริมถนนยามค่ำคืน, งานเต้นรำและงานพิธีฝังศพเป็นครั้งคราว โดยเป็นนักร้องบ้าง นักดนตรีบ้าง ได้เงินวันละ ๒ ถึง ๓ ฟลอรินส์ พอจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปวันหนึ่ง ๆ[10] ในช่วงนี้เองเขาได้แต่งเซเรเนดสำหรับบรรเลงในวง เพลงแรกของไฮเดินนี้ ถ้าใครได้ยินเป็นต้องหยุดยืนฟังให้จบ เพราะมีความไพเราะจับใจผู้ฟังอย่างยิ่ง ปรากฏเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ฟังทั้งหลาย[11] จนในวันหนึ่ง นิโคล่า พอร์พอร่า คีตกวีชื่อดังชาวอิตาลีมาได้เพลงนั้นเข้าก็เกิดความสนใจ พอรู้ว่าไฮเดินเป็นผู้แต่งก็รู้สึกสนใจในตัวไฮเดินมาก และได้เอ่ยปากชักชวนไฮเดินให้มาอยู่กับเขา ไฮเดินจึงได้มาเป็นเลขานุการส่วนตัวและผู้ช่วยขับร้องของนิโคล่า พอร์พอร่า ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งในภายหลังเขากล่าวว่านี่เป็นที่ที่เขาได้เรียนรู้"รากฐานของการประพันธ์เพลงที่แท้จริง"อีกด้วย[12] นิโคล่า พอร์พอร่า ได้สอนให้ไฮเดินประพันธ์เพลง เรียนดนตรีทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ และนอกจากนั้นยังแนะนำให้เขารู้จักกับแวดวงสังคมชั้นสูงอีกด้วย
เมื่อครั้งที่ไฮเดินเป็นนักร้องประสานเสียงอยู่นั้น เขาไม่เคยได้เรียนรู้ทฤษฎีดนตรีและการประพันธ์เพลงเลย และกลายเป็นช่องว่างในการเข้าถึงศาสตร์นี้อย่างมาก ดังนั้น เพื่อความเข้าใจในศาสตร์นี้ เขาจึงเริ่มศึกษาหลักการแต่งเพลงจากหนังสือ Gradus ad Parnassum ของโยฮันน์ โยเซฟ ฟุกซ์ และศึกษาผลงานของคาร์ล ฟิลิป เอ็มมานูเอล บาคอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งต่อมาเขาได้ถือว่าเป็นแนวทางสำคัญของการแต่งเพลงของเขาเลยทีเดียว[13]
ในขณะที่ทักษะของไฮเดินกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เขาเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นจากผลงานอุปรากรเรื่องแรกของเขา คือ Der krumme Teufel หรือ The Limping Devil ซึ่งประพันธ์ให้กับนักเขียนการ์ตูน โยฮัน โจเซฟ เฟลิกซ์ ครูซ เจ้าของฉายา "เบอร์นาร์ดอน" จากนั้น ผลงานของเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในปี 1753 แต่หลังจากนั้นก็เงียบไปเนื่องจากถูกเซนเซอร์[14]
ไฮเดินเห็นว่าผลงานเพลงที่เขาแต่งขึ้น ถูกนำไปเผยแพร่และขายในร้านดนตรีท้องถิ่นอีกด้วย แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกกังวลใจใด ๆ[15]
หลังจากที่เขากำลังมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ในที่สุดไฮเดินได้มาอยู่ในสังคมชั้นสูง อันเป็นช่วงที่สำคัญยิ่งในช่วงชีวิตนักประพันธ์ของเขา เคาท์เทส ธุน (Countess Thun) ได้ฟังบทประพันธ์ของไฮเดินเพลงหนึ่งแล้วประทับใจมาก จึงได้เรียกตัวเขาและว่าจ้างให้มาเป็นครูสอนร้องเพลงและคีย์บอร์ดส่วนตัวของ เธอ และบารอน คาร์ล โยเซฟ ฟูร์นแบร์ก ( Carl Josef Fürnberg) ก็ได้ว่าจ้างไฮเดินและให้มาอยู่ที่ Weinzierl คฤหาสน์ในชนบทของเขา ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้ประพันธ์บทเพลงควอเต็ตบทแรก ๆ ต่อมา ฟูร์นแบร์กได้แนะนำให้ไฮเดินรู้จักกับ เคานท์ ฟอน มอร์ซิน หลังจากนั้นในปี 1757 เคานท์ ฟอน มอร์ซิน ก็ได้ว่าจ้างไฮเดินที่เมือง Lukavec ซึ่งเป็นการทำงานเต็มเวลาครั้งแรกของเขา

อาชีพนักประพันธ์


ภาพวาดไฮเดิน โดย ลุดวิก กุตเตนบรันน์ ปี ๑๗๗๐
งานหลัก ๆ ของไฮเดินภายใต้การว่าจ้างของ เคานท์ ฟอน มอร์ซิน คือ Kapellmeister หมายถึงผู้กำกับดนตรีนั่นเอง (มาจากภาษาเยอรมัน) เขาเป็นคนคุมวงดุริยางค์เล็ก ๆ วงหนึ่ง และที่นี่เองที่เขาได้ประพันธ์ซิมโฟนีบทแรก ในกุญแจเสียงดี เมเจอร์ เพื่อใช้ในการบรรเลงของวงนี้ ในขณะที่เขามีอายุได้ ๒๗ ปีพอดี อันถือว่าเป็นผลงานซิมโฟนีชิ้นแรกของโลก เขาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น"บิดาแห่งซิมโฟนี" (ก่อนหน้านี้ คำว่าซิมโฟนีไม่เคยปรากฏในโลกของดนตรีเลย)
จากนั้นในปี ๑๗๖๐ ไฮเดินได้ตกหลุมรักลูกศิษย์คนหนึ่งจากจำนวนสองพี่น้องที่มาเรียนดนตรีกับเขา นั่นก็คือ เธเรเซ เคลเลอร์ (Therese Keller) ซึ่งเป็นลูกสาวของช่างตัดผม[16] หลังจากที่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานเรียบร้อยแล้ว เขาจึงได้ขอเธอแต่งงาน แต่เนื่องจากหญิงผู้นี้จะต้องเข้าคอนแวนต์ และต่อมาฝ่ายบิดาของผู้หญิงก็สนับสนุนให้แต่งงานกับพี่สาวที่มีอายุแก่กว่า เธอสี่ปี มีชื่อว่ามาเรีย อานนา เคลเลอร์ (Maria Anna Aloysia Apollonia Keller (1729–1800)) ไฮเดินจึงยอมรับที่จะแต่งงาน แต่ทั้งคู่ไม่มีความสุขกับชีวิตสมรส[17] ทั้งนี้ก็เพราะมีหลายอย่างที่ไม่สามารถจะไปด้วยกันได้ ในที่สุดไม่กี่ปีต่อมาก็ต้องแยกทางกันโดยไม่มีบุตรด้วยกัน ในปีนี้เขาได้ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข ๒ ในกุญแจเสียงซี เมเจอร์ขึ้นอีกด้วย
ในปี 1761 เคานท์ ฟอน มอร์ซิน ได้เลิกวงดนตรี แต่ไฮเดินก็มาได้ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าวงในครอบครัวคหบดีที่ร่ำรวยที่ สุดครอบครัวหนึ่งในยุโรป นั่นคือครอบครัวของเจ้าชายปอล อันโทน เอสเตอร์ฮาซี (Paul Anton Esterházy)แห่งฮังการีในพระราชวัง Schloss Esterházy เมือง Eisenstadt อยู่นอกกรุงเวียนนา 30 ไมล์ อันเป็นของตระกูลเจ้านายชั้นสูงรองจากกษัตริย์ในสมัยนั้น[18] ในปีนี้เขาได้ประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข ๓ ในกุญแจเสียงจี เมเจอร์, หมายเลข ๔ ในกุญแจเสียงดี เมเจอร์, หมายเลข ๕ ในกุญแจเสียงเอ เมเจอร์ และเพลงอื่น ๆ อีกมาก[19] ต่อมาเจ้าชายปอล อันโทน เอสเตอร์ฮาซีได้สิ้นพระชนม์ และเจ้าชายนิโคลัส เอสเตอร์ฮาซี พระอนุชา ผู้มีสมญานามว่า "The Magnificent" ได้เป็นรัชทายาทผู้สืบทอด ได้สร้างพระราชวัง Eszterháza ขึ้นราวทศวรรษที่ ๑๗๖๐ ไฮเดินได้ทำงานอยู่ที่นั่นในตำแหน่งหัวหน้าวง เนื่องจากหัวหน้าวงคนก่อนเสียชีวิตไป เขาทำงานนานถึงสามสิบปี ซึ่งเป็นงานอันทรงเกียรติ ตลอดเวลาเขาได้สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์อย่างสวยงาม ดำรงตำแหน่งที่มีมาแต่โบราณของตระกูลนี้ ไฮเดินมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหลายด้าน เป็นทั้งนักประพันธ์ ผู้ควบคุมวงดุริยางค์ บรรเลงเชมเบอร์มิวสิค (chamber music)ร่วมกับผู้อุปการะ และสุดท้ายคือการควบคุมวงอุปรากร ถึงแม้งานจะค่อนข้างหนัก แต่ไฮเดินก็คิดว่าเป็นงานของศิลปินที่สร้างโอกาสให้กับชีวิตของเขาได้ดีมาก เจ้าชายเอสเตอร์ฮาซีทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีที่ประทับใจฝีมือของไฮเดินมาก และอนุญาตให้เขานำวงดุริยางค์ของพระองค์เองในแต่ละวันได้อย่างอิสระ

มุมหนึ่งของพระราชวัง Eszterháza
ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เขาได้ประพันธ์บทเพลงไว้มากมายทั้งซิมโฟนี ควอร์เต็ตเครื่องสาย คอนแชร์โต้ โซนาต้าสำหรับเครื่องดีด บทเพลงสำหรับบาริทอน อุปรากร บทเพลงเพื่องานรื่นเริง รวมถึงบทเพลงทางศาสนา ความโด่งดังของไฮเดินเป็นที่ขจรขจายไปทั่วทวีปยุโรป นักดนตรีในวงของเขาได้ตั้งฉายาให้เขาว่า คุณพ่อไฮเดิน เนื่องจากไฮเดินได้ดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี

เจ้าชายนิโคลัส เอสเตอร์ฮาซี ผู้อุปการะคุณคนสำคัญของไฮเดิน
ยิ่งนานไป ไฮเดินก็ยิ่งรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวต้องมาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในแต่ละปีที่พระราชวัง Esterháza ซึ่งห่างไกลจากกรุงเวียนนา แทนที่จะได้อยู่ที่พระราชวัง Eisenstadt ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเวียนนามากกว่า[20] ไฮเดินจึงอยากจะกลับไปยังเวียนนาสักระยะ เนื่องจากเขามีเพื่อนสนิทอยู่ที่นั่นมากมาย[21]
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นคือมิตรภาพกับ มาเรีย อันนา ฟอน เกนซิงเกอร์ (Maria Anna von Genzinger) ผู้เป็นภรรยาของแพทย์ส่วนพระองค์ของเจ้าชายนิโคลัสในกรุงเวียนนา ซึ่งหญิงคนนี้มีความเกี่ยวข้องกับบทประพันธ์ของเขาในปี ๑๗๘๙ อย่างมาก ไฮเดินได้เขียนจดหมายถึงมาดามเกนซิงเกอร์บ่อยครั้ง โดยมักจะพรรณาถึงความเหงาและโดดเดี่ยวที่ Eszterháza และพรรณาถึงช่วงเวลาแห่งความสุขของโอกาสเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาได้ไปเจอเธอที่เวียนนา นอกจากนั้น ไฮเดินยังได้เขียนถึงเธอบ่อยมากเมื่อคราวที่เขาเดินทางไปยังลอนดอน ข่าวการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของมาดามเกนซิงเกอร์ในปี ๑๗๙๓ ทำให้ไฮเดินเสียใจอย่างมาก โดยเขาได้ประพันธ์เพลงบรรยายความรู้สึกของเขาเอาไว้ในวาริเอชั่นส์ ในบันไดเสียงเอฟ ไมเนอร์ สำหรับเปียโน Hob. XVII:6 อาจจะเป็นบทเพลงที่สะท้อนถึงอารมณ์เศร้าต่อการจากไปของเธอมากที่สุดก็เป็น ได้[22]

ภาพวาดโมซาร์ท โดยโยเซฟ แลนจ์
นอกจากมาดามเกนซิงเกอร์แล้ว ในปี 1781 โจเซฟ ไฮเดินได้ผูกมิตรกับโมซาร์ท สหายต่างวัย แม้ว่าทั้งคู่จะมีอายุห่างกันกว่า ๒๔ ปี ทั้งคู่มีอิทธิพลทางดนตรีซึ่งกันและกันจนเป็นเพื่อนสนิทกัน ผู้คนในสมัยนั้นมักจะเห็นทั้งคู่เล่นสตริงควอเต็ตด้วยกันบ่อยครั้ง โมซาร์ทเห็นว่าไฮเดินมีอัจฉริยะภาพในทางดนตรี และไฮเดินก็มองโมซาร์ทว่าเป็นอัจฉริยะที่แท้จริง

" ฉันพึ่งเคยเห็นความอัจฉริยะทางดนตรีซึ่งในยุคไม่มีใครเทียบได้ จนเขียนจดหมายส่งไปหาพ่อของโมซาร์ทและยกย่องโมซาร์ทว่า "โมซาร์ทนั้นเปรียบเสมือนเป็นบุตรที่พระเจ้าประทานพรมาให้และสร้างความ รื่นเริงแก่มวลชน ซึ่งฉันเทียบไม่ติดเลยกับโมซาร์ท ฉันต้องคุกเข่าให้แก่โมซาร์ท ซึ่งเหนือกว่าฉันเสียด้วยซ้ำ" "
ไฮเดิน

เดินทางไปลอนดอน

ในปี 1790 หลังจากที่เจ้าชายนิโคลัสสิ้นพระชนม์และมีเจ้าชายพระองค์ใหม่ซึ่งไม่ทรงโปรด ดนตรีมาดำรงตำแหน่งแทน เจ้าชายพระองค์นี้ได้ยกเลิกสถาบันดนตรีทั้งหมดและจ่ายเงินบำนาญให้กับไฮเดิน แทน หลังทางที่ไม่มีพันธะสัญญาใด ๆ แล้ว ไฮเดินจึงสามารถตอบตกลงข้อเสนอที่มีค่าตอบแทนอย่างงามจากโยฮันน์ ปีเตอร์ ซาโลมอน (Johann Peter Salomon) ผู้อำนวยการแสดงชาวเยอรมันได้ โดยเป็นข้อเสนอให้ไฮเดินเดินทางไปยังประเทศอังกฤษและทำหน้าที่ควบคุมวงซิมโฟนีใหม่และวงดุริยางค์ขนาดใหญ่
การไปเยือนอังกฤษทั้งสองครั้ง คือในปี ๑๗๙๑-๑๗๙๒ และ ๑๗๙๔-๑๗๙๕ ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางดนตรีให้แก่ไฮเดิน[23] โดยจัดพิธีอย่างใหญ่โตโดยนายกเทศมนตรีเป็นผู้มอบให้ นับเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของเขาที่ได้รับเกียรติอันนี้[24]
การเดินทางไปเยือนอังกฤษนี้ ไฮเดินได้ประพันธ์ผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในวงการดนตรี ซึ่งได้แก่ Surprise, Military, Drumroll และ London symphonies, ควอเต็ต Rider, และเปียโนทริโอ Gypsy Rondo ความผิดพลาดครั้งเดียวของเขาในอาชีพนี้ก็คือการประพันธ์อุปรากรเรื่อง Orfeo ed Euridice หรือที่รู้จักกันในชื่อของ L'Anima del Filosofo ที่ไฮเดินได้สัญญาว่าจะประพันธ์ขึ้น แต่ก็ไม่ได้นำมาออกแสดงเนื่องจากถูกระงับโดยกลุ่มผู้ก่อกวน
ขณะที่ไฮเดินอยู่ในกรุงลอนดอนก็ได้รับข่าวการมรณกรรมของโมสาร์ท ทำให้เขาโศกเศร้าสะเทือนใจอย่างมาก เพราะโมสาร์ทอายุยังน้อยและกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง ไฮเดินพำนักอยู่ในลอนดอนจนกระทั่งถึงกลางปี ๑๗๙๒ จึงเดินทางกลับกรุงเวียนนาพร้อมด้วยงานที่แต่งใหม่เป็นจำนวนถึง ๗๖๘ หน้า และได้เงิน ๒๔,๐๐๐ ฟลอรินส์ (ประมาณ ๒,๔๐๐ เหรียญสหรัฐ)[25] ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่งามพอควร ดังนั้น ฐานะทางการเงินของเขาจึงถือว่ามั่นคงทีเดียว

ภาพวาด เบโธเฟ่น สมัยวัยรุ่นโดยจิตรกร คาร์ล โทรกอตต์ ริดเดล (Traugott Riedel) ในปี 1769
ด้วยเกียรติประวัติอันดีงามที่ไฮเดินได้สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและชาติบ้านเกิดเมืองนอนของตน Count Harrach จึงได้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่ไฮเดินที่เมืองโรห์โร บ้านเกิดของเขา เมื่อปี ๑๗๙๓
ในขณะที่ไฮเดินกำลังเดินทางไปกรุงลอนดอน ได้ผ่านกรุงบอนน์ ได้พบกับเบโธเฟ่น เมื่อได้ฟังเบโธเฟ่นเล่นเปียโนแล้วก็กล่าวว่า “เด็กคนนี้มีความสามารถสูง” ต่อมาเเบโธเฟ่นก็ไปพบไฮเดิน พร้อมกับนำเพลงต่าง ๆ ที่เขาแต่งไปให้ไฮเดินดูด้วย เมื่อไฮเดินได้ดูก็รู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่ง และกล่าวกับเบโธเฟ่นว่า “ถ้าเธอไปหาฉันที่เวียนนา ฉันจะสอนให้” ดังนั้น ในปี 1792 เบโธเฟ่นเดินทางไปยังกรุงเวียนนาเป็นครั้งที่ ๒ และไปเรียนดนตรีกับไฮเดินอยู่เกือบปี[26] ในตอนแรกเขามีความนิยมชมชอบในตัวไฮเดินซึ่งเป็นครู แต่ต่อมา เวลาเรียนดนตรีกับไฮเดินนั้น เบโธเฟ่นมักจะมีความคิดแย้งกับไฮเดิน เพราะไฮเดินดูจู้จี้และขี้บ่นเกินไป และไฮเดินก็ไม่พอใจกับศิษย์เท่าใดนัก เพราะว่า เบโธเฟ่นเป็นคนหัวแข็ง ไม่ฟังอาจารย์สอน และไฮเดินก็ไม่ชอบเพลงทริโอของเบโธเฟ่นมากนัก เบโธเฟ่นต้องแอบไปเรียนการแต่งเพลงกับโยฮันน์ เกออร์ก อัลเบรคสแบร์เกอร์ (Johann George Albrechsberger) อยู่ ๒ ปี เบโธเฟ่นได้เก็บเป็นความลับมานานจนไฮเดินรู้ความลับ ไฮเดินโกรธมากเพราะว่าเขาไม่เคยสนใจไฮเดินเลย เบโธเฟ่นเคืองจัด ตวาดโดยไม่ยั้งคิดออกมาว่า "แล้วทำไมจะให้ฉันต้องดำเนินทฤษฏีดนตรีแบบแผนเก่า ๆ ไปอีกด้วย ฉันมีรูปแบบของฉัน" และความสัมพันธ์ของไฮเดินและเบโธเฟ่นต้องแยกจากกัน แต่ไฮเดินก็คิดว่า เบโธเฟ่นจะมีความคิดยังไงก็ช่างเขา เขาถือว่าสอนศิษย์แล้ว ก็คือว่าศิษย์มีครูก็แล้วกัน

ชีวิตบั้นปลายที่เวียนนา

ในปี ๑๗๙๕ เขาได้กลับมาตั้งรกรากในบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งบริเวณชานเมือง Gumpendorf ของกรุงเวียนนา และหันมาประพันธ์เพลงศาสนาสำหรับวงดุริยางค์และคณะนักร้องประสานเสียงเป็น ส่วนใหญ่ โดยรวมไปถึงบทเพลงอมตะสองบท (The Creation และ The Seasons) และบทเพลงสดุดีครอบครัวเอสเตอร์ฮาซี่ ๖ บท ซึ่งต่อมาได้ทำให้เจ้าชายที่ไม่ทรงโปรดดนตรีหันมาสนใจดนตรีมากยิ่งขึ้น ไฮเดินยังได้ประพันธ์เพลงสำหรับเครื่องดนตรีบางชนิดโดยเฉพาะอีกด้วย เช่น ทรัมเป็ตคอนแซร์โต และ ๙ บทสุดท้ายของเขาก็เป็นชุดสตริงควอเต็ต รวมไปถึงควอเต็ต Fifths, Emperor และ Sunrise ด้วย
ในปี ๑๘๐๒ ไฮเดินต้องหยุดการประพันธ์ผลงานเพลงเนื่องด้วยความเหนื่อยล้าและป่วยหนัก เพราะตรากตรำทำงานหนักมากเกินไปในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และซึ่งก็ถือว่าเป็นงานที่ยากสำหรับเขาอย่างไม่ต้องสงสัยเลย เนื่องจากไฮเดินจะมีความคิดใหม่ ๆ ในการประพันธ์เพลงตลอดเวลา แต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้เลย ไฮเดินได้รับการดูแลจากบรรดาบริวารของเขาเป็นอย่างดี เขาได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย และมีแขกมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาหาในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่ชีวิตช่วงนี้ก็ไม่ได้เป็นช่วงที่มีความสุขนักสำหรับเขา
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ปี ๑๘๐๙ อาการป่วยได้คุกคามจนต้องล้มหมอนนอนเสื่อ เขาได้ขอร้องให้ใครก็ได้ช่วยพยุงเขาไปที่เปียโนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเขาเล่น เพลง Gott erhalte Franz den Kaiser ที่เขาประพันธ์ด้วยตัวเองตั้งแต่ปี ๑๗๙๗ เพื่อแสดงถึงความรักชาติ[27]และเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิฟร้านซ์ ที่ ๒ (Emperor Franz II)เนื่องในวันพระราชสมภพ[28] เขาเล่นเพลงนี้พร้อมแก้ไขไปด้วยทั้งหมด ๓ ครั้ง ก่อนที่ทำนองของเพลงนี้จะกลายมาเป็นเพลงชาติของออสเตรียและเยอรมนีในเวลาต่อมา
จากนั้นไม่นาน ไฮเดินก็เสียชีวิตลงเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม ปี ๑๘๐๙ สิริรวมอายุได้ ๗๗ ปี หลังจากที่กรุงเวียนนาถูกกองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของจักรพรรดินโปเลียนเข้า ยึดครองไม่นานนัก คำสั่งเสียสุดท้ายของเขาดูเหมือนจะเป็นคำพูดให้บริวารของเขาใจเย็นลงและมี ความอุ่นใจมากขึ้นในคราวที่ลูกกระสุนปืนใหญ่ตกใกล้ ๆ ละแวกบ้านของเขา [29] ศพของไฮเดินนั้นดูไม่น่าชมเท่าไรนัก เป็นต้นว่าศีรษะหายไป โดยที่ไม่มีใครพบศีรษะของเขาอีกเลย
สองสัปดาห์ต่อมา ทหารฝรั่งเศสได้มีการจัดพิธีฝังศพให้เขาอย่างสมเกียรติเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๑๘๐๙ ที่โบสถ์สกอตเทนเคิร์ช (Schottenkirche) กรุงเวียนนา ซึ่งได้มีการบรรเลงเพลงสวด K.626 ของโมสาร์ทให้กับดวงวิญญาณของเขาด้วย จึงมีคนเรียกเขาโดยทั่วไปว่า คุณพ่อไฮเดิน(Papa Haydn) เมื่อไฮเดินเสียชีวิตไปแล้ว เขาได้ทิ้งมรดกทางดนตรีไว้ให้แก่โลกมากมาย ทั้งซิมโฟนีหมายเลข ๑๐๔ อันโด่งดัง, งาน Stage works ๑๖ บท, เพลงโหมโรง ๑๖ บท, สตริงควอเต็ต 85 บท, คอนเซอร์โตจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีเพลงเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ อีกมากมายหลายร้อยบท[30

โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท

วอล์ฟกัง อามาเดอุส โมซาร์ท (เยอรมัน: Wolfgang Amadeus Mozart ภาษาเยอรมัน: [ˈvɔlfɡaŋ amaˈdeus ˈmoːtsaʁt]) 27 มกราคม พ.ศ. 2299 - 5 ธันวาคม พ.ศ. 2334 (ค.ศ. 1756 - 1791) เป็นนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกชาวออสเตรียที่มีชื่อเสียงก้องโลก โมซาร์ทเกิดที่เมืองซาลซ์บูร์ก เขามีงานประพันธ์เพลง 700 ชิ้นรวมทั้งโอเปร่า (ดนตรีซึ่งมีเนื้อเรื่อง) ชื่อ ดอน โจวันนี (Don Giovanni) และ ขลุ่ยวิเศษ (Die Zauberflöte) ปัจจุบันผลงานต่าง ๆ ของเขาได้ถูกนำมาจัดจำหน่ายเป็นสื่อต่าง ๆ มากมาย

เนื้อหา

ประวัติ

วัยเด็ก (ค.ศ. 1756 - ค.ศ. 1772)


สถานที่เกิดของโมซาร์ท (Getreidegasse 9, Salzburg, Austria)
โมซาร์ทเป็นบุตรของนักประพันธ์เพลงชาวเยอรมัน เลโอโปลด์ โมซาร์ท (ค.ศ. 1719 - ค.ศ. 1787) รองคาเปลล์ไมสเตอร์ในราชสำนักเจ้าชายอาร์ชบิชอปแห่งซาลซ์บูร์ก กับอันนา มาเรีย แพร์ท (Anna Maria Pert) (ค.ศ. 1720 - ค.ศ. 1778) โวล์ฟกัง อามาเด (โมซาร์ทมักจะเรียกตนเองว่า "Wolfgang Amadè Mozart" ไม่เคยถูกเรียกว่า อมาเดอุส ตลอดช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ ไม่แม้กระทั่งในรายการบันทึกผู้รับศีลล้างบาป โดยได้รับชื่อละตินว่า "Joannes Chrysostomus Wolfgangus Theophilus Mozart" ) ได้แสดงได้เห็นอัจฉริยภาพทางดนตรี ก่อนวัยอันควร ตั้งแต่อายุสามขวบ เขามีทักษะการฟังที่ยอดเยี่ยม และมีความจำที่แม่นยำ ความสามารถพิเศษยิ่งยวด ทำให้เป็นที่น่าฉงนแก่ผู้คนรอบข้าง และเป็นแรงกระตุ้นให้บิดาของเขา ให้สอนฮาร์ปซิคอร์ดแก่เขา ตั้งแต่อายุห้าขวบ โมซาร์ทน้อยเรียนไวโอลินและออร์แกน เป็นเครื่องดนตรีชิ้นต่อมา ตามด้วยวิชาเรียบเรียงเสียงประสาน เขารู้จักการแกะโน้ตจากบทเพลงที่ได้ยิน และเล่นทวนได้อย่างถูกต้อง ตั้งแต่วัยยังไม่รู้จักอ่านเขียนและนับเลข เมื่ออายุหกขวบ (ค.ศ. 1762) เขาก็แต่งเพลงชิ้นแรกได้แล้ว (เมนูเอ็ต KV.2, 4 และ 5 และ อัลเลโกร KV.3)

ครอบครัวโมซาร์ท เดินทางออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ต: เลโอโปลด, โวล์ฟกัง, และแนนเนิร์น
ระหว่าง ค.ศ. 1762 ถึง ค.ศ. 1766 เขาได้เดินทางออกตระเวนแสดงคอนเสิร์ตกับบิดา (ที่เป็นลูกจ้างของซีกิสมุนด์ ฟอน ชรัทเทนบัค (Schrattenbach) เจ้าชายอาร์ชบิชอปแห่งซาลซ์บูร์กในขณะนั้น) และมาเรีย อันนา พี่สาวคนโต (มีชื่อเล่นว่า "แนนเนิร์น" เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1751) พวกเขาเปิดการแสดงในนครมิวนิคเป็นแห่งแรก ตามมาด้วยกรุงเวียนนา ก่อนที่จะออกเดินสายครั้งใหญ่ทั่วทวีปยุโรป ซึ่งเริ่มตั้งแต่ มิวนิค ออกสบูร์ก มันน์ไฮม์ แฟรงค์เฟิร์ต บรัสเซล ปารีส ลอนดอน เฮก อัมสเตอดัม ดิจง ลียง เจนีวา โลซาน) การแสดงของเขาประทับใจผู้ชมเป็นอย่างมาก และยังทำให้เขาได้พบกับแนวดนตรีใหม่ๆอีกด้วย เขาได้พบกับนักดนตรีสามคนที่ต้องจดจำเขาไปตลอดชีวิต อันได้โยฮัน โชเบิร์ต ที่กรุงปารีส โยฮันน์ คริสเตียน บาค (บุตรชายคนรองของ โยฮันน์ เซบัสเตียน บัค) ที่กรุงลอนดอน และเบอร์นัว แมร์ล็องผู้ซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก ที่เมืองปาดู แมร์ล็องนี่เองที่ทำให้โมซาร์ทได้ค้นพบ เปียโนฟอร์ท ที่ถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 และโอเปร่าในแบบของชาวอิตาเลียน แมร์ล็องยังได้สอนให้เขาแต่งซิมโฟนีอีกด้วย เมื่อปี ค.ศ. 1767โมซาร์ทได้ประพันธ์โอเปร่าเรื่องแรก ตั้งแต่อายุได้ 11 ปี ชื่อเรื่อง อพอลโล กับ ไฮยาซิน (K.38) เป็นบันเทิงคดีภาษาละติน ที่แต่งให้เปิดแสดงโดยคณะนักเรียน ของโรงเรียนมัธยม ที่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแห่งเมืองซัลสบูร์ก เมื่อเขาเดินทางกลับถึงประเทศออสเตรีย เขาได้เดินทางไปยังกรุงเวียนนาบ่อยครั้ง และได้แต่งโอเปร่าสองเรื่องแรก ได้แก่ นายบาสเตียน กับ นางบาสเตียน และ ลา ฟินตา ซ็อมปลิซ ตลอดช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1768 เมื่อมีอายุได้ 12 ปี

ภาพเขียนแสดงโมซาร์ทในวัยเด็ก
ในปีถัดมา เขาได้รับการแต่งตั้ง จากเจ้าชายอาร์คบิชอป ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคอนเสิร์ต บิดาของเขาได้ขอลาพักงาน โดยไม่รับเงินเดือนเพื่อพาเขาไปท่องเที่ยวที่ประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1769 ถึง ค.ศ. 1773 โมซาร์ทได้เดินทางไปประเทศอิตาลีหลายครั้งเพื่อไปศึกษาเกี่ยวกับโอเปร่า อันเป็นรูปแบบดนตรีที่เขาใช้ประพันธ์ การแต่งงานของฟิกาโร (Le Nozze di Figaro) ,ดอน โจวานนี ,โคสิ ฟาน ตุตเต้ ,ขลุ่ยวิเศษ (Die Zauberflöte) ฯลฯ เขาสามารถนำเสียงดนตรีอันสูงส่งเหล่านี้ออกมาสู่โลกได้ จากใส่ใจในความกลมกลืนของเสียงร้อง และ ความสามารถในการควบคุมเสียง อันเกิดจากเครื่องดนตรีหลากชิ้น
โชคไม่ดีที่ ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1771 เจ้าชายอาร์ชบิชอปซีกิสมุนด์ ฟอน ชรัทเทนบัคสิ้นพระชนม์ เจ้าชายอาร์ชบิชอปฮีโรนือมุส ฟอน คอลโลเรโดได้กลายมาเป็นนายจ้างคนใหม่ของเขา

รับใช้ราชสำนักซาลซ์บูร์ก (ค.ศ. 1773 - ค.ศ. 1781)


โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท
โมซาร์ทไม่มีความสุขที่บ้านเกิดของเขา เนื่องจากนายจ้างใหม่ไม่ชอบให้เขาออกไปเดินทางท่องเที่ยว และยังบังคับรูปแบบทางดนตรี ที่เขาได้ประพันธ์ให้กับพิธีทางศาสนา เมื่อมีอายุได้ 17 ปี เขาไม่ยินดีที่จะยอมรับข้อบังคับนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอาร์ชบิชอป เสื่อมถอยลงในอีกสามปีต่อมา โชคดีที่เขาได้รู้จักกับโยเซฟ เฮย์เด้น ซึ่งก็ได้มาเป็นเพื่อนโต้ตอบทางจดหมาย และเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันตลอดชีวิต
"ข้าต้องการพูดต่อหน้าพระเจ้า ในฐานะชายผู้ซื่อสัตย์ บุตรชายของท่านเป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ข้าเคยรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นการรู้จักเป็นการส่วนตัวหรือรู้จักเพียงในนาม เขามีรสนิยม และนอกเหนือจากนั้น เป็นศาสตร์ทางการประพันธ์ดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"
ในจดหมายที่ โยเซฟ เฮย์เด้น เขียนถึง เลโอโปลด์ โมซาร์ท

"มีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักเคล็ดลับที่จะทำให้ข้าหัวเราะ และสัมผัสจิตวิญญาณส่วนที่อยู่ลึกสุดของข้าเอง"
วอล์ฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ท กล่าวถึงโยเซฟ เฮย์เด้น

ในปีค.ศ. 1776 โมซาร์ทมีอายุได้ 20 ปี และได้ตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองซาลซ์สบูร์ก อย่างไรก็ดีเจ้าชายอาร์ชบิชอปได้ปฏิเสธไม่ให้บิดาของเขาไปด้วย และบังคับให้เขาลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการคอนเสิร์ต หลังจากการเตรียมการเป็นเวลาหนึ่งปี โมซาร์ทได้จากไปพร้อมกับมารดา โดยเดินทางไปยังนครมิวนิคเป็นแห่งแรก ที่ซึ่งเขาหาตำแหน่งงานไม่ได้ จากนั้นจึงไปที่เมืองเอาก์สบูร์ก และท้ายสุดที่มันน์ไฮม์ ที่ซึ่งเขาได้ทำความรู้จักกับนักดนตรีมากมาย อย่างไรก็ดี แผนการที่จะหาตำแหน่งงานของเขาไม่เป็นผลสำเร็จ ในระหว่างนั้นเองที่เขาได้ตกหลุมรักอลอยเซีย วีเบอร์ นักเต้นระบำแคนตาตาสาวอย่างหัวปักหัวปำ ที่ทำให้บิดาของเขาโกรธมาก และขอให้เขาอย่าลืมอาชีพนักดนตรี โมซาร์ทมีหนี้สินล้นพ้นตัว เขาเริ่มเข้าใจว่าจะต้องออกหางานทำต่อไป และออกเดินทางไปยังกรุงปารีสในเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 1778

เป็นอิสระที่กรุงเวียนนา (ค.ศ. 1782-ค.ศ. 1791)


คอนสแตนซ์ วีเบอร์ ภรรยาของโมซาร์ท
ในปีค.ศ. 1781โมซาร์ทเดินทางไปยังกรุงเวียนนากับ เจ้าชายอาร์ชบิชอปฟอน คอลโลเรโด ผู้ได้เลิกจ้างโมซาร์ทที่เวียนนา โมซาร์ทจึงตั้งรากฐานอยู่ที่เวียนนา เมื่อเห็นว่าชนชั้นสูงเริ่มชอบใจในตัวเขา และในปีเดียวกันนั้น โมซาร์ทได้แต่งงานกับคอนสแตนซ์ วีเบอร์ (นักร้อง(โซปราโน) ซึ่งเป็นน้องสาวของ อลอยเซีย วีเบอร์ ซึ่งโมซาร์ทเคยหลงรัก) โดยที่บิดาของโมซาร์ทไม่เห็นด้วยกับงานวิวาห์นี้ โมซาร์ทและคอนสแตนซ์มีลูกด้วยกันถึงหกคน ซึ่งเพียง 2 คนรอดพ้นวัยเด็ก
ปีค.ศ. 1782เป็นปีที่ดีสำหรับโมซาร์ท โอเปร่าเรื่อง Die Entführung aus dem Serail ประสบความสำเร็จอย่างมาก และโมซาร์ทก็ได้แสดงคอนเสิร์ต ชุดที่เขาเล่นในเปียโนคอนแซร์โตของเขาเอง
ระหว่างปีค.ศ. 1782 - ค.ศ. 1783 โมซาร์ทได้รับอิทธิพลจากผลงานของบราค และแฮนเดลผ่านบารอนก็ อตตเฟร็ด วอน สวีเทน(Baron Gottfried van Swieten) แนวเพลงของโมซาร์ทจึงได้รับอิทธิพลจากยุคบารอคตั้งแต่นั้นมา อย่างที่เห็นได้ชัดในท่อนฟิวก์ของ ขลุ่ยวิเศษ และซิมโฟนี หมายเลข 41
ในช่วงนี้เองโมซาร์ทได้มารู้จักและสนิทสนมกับโยเซฟ เฮเดิน โดยทั้งสองมักจะเล่นในวงควอเตทด้วยกัน และโมซาร์ทก็ยังเขียนควอเตทถึงหกชิ้นให้เฮเด้น เฮเด้นเองก็ทึ่งในความสามารถของโมซาร์ท และเมื่อได้พบกับลีโอโปล์ด พ่อของโมซาร์ท ได้กล่าวกับเขาว่า "ต่อหน้าพระเจ้าและในฐานะคนที่ซื่อสัตย์ ลูกของท่านเป็นนักประพันธ์ที่ดีที่สุดที่ผมเคยได้พบหรือได้ยิน เขามีรสนิยม และมากกว่านั้น เขามีความรู้เรื่องการประพันธ์" เมื่อโมซาร์ทอายุมากขึ้น เขาก็ได้รับอิทธิพลจากนักปราชญ์แห่งศตวรรษที่ 18 และเป็นฟรีเมสันที่อยู่ในสาขาโรมัน คาทอลิค โอเปร่าสุดท้ายของโมซาร์ทแสดงถึงอิทธิพลฟรีเมสันนี้
ชีวิตของโมซาร์ทมักพบกับปัญหาทางการเงินและโรคภัยไข้เจ็บ โมซาร์ทย่อมไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับงานของเขา และเงินที่เขาได้รับนั้นก็ถูกผลาญด้วยวิถีชีวิตที่หรูหราอลังการ
โมซาร์ทใช้ชีวิตในช่วงปีค.ศ. 1786 ที่กรุงเวียนนาในอพาร์ตเมนท์ที่จนถึงวันนี้ยังสามารถเข้าชมได้ที่ดอมกาส 5 (Domgasse 5)หลังโบสถ์เซนต์สตีเฟน (St. Stephen's Cathedral) โมซาร์ทประพันธ์ การแต่งงานของฟิกาโร และ Don Giovanni ณ ที่แห่งนี้

บั้นปลายชีวิต

บั้นปลายและการเสียชีวิตของโมซาร์ทยังคงเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปยากสำหรับ นักวิชาการ เพราะมีทั้งตำนานและเรื่องเล่าแต่ขาดหลักฐาน มีทฤษฏีหนึ่งสันนิษฐานว่าสุขภาพของโมซาร์ทเริ่มแย่ลงทีละเล็กทีละน้อย และโมซาร์ทเองก็รับรู้สภาพนี้ซึ่งปรากฏขึ้นในงานประพันธ์ของเขา แต่นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยอ้างถึงจดหมายที่โมซาร์ทเขียนถึงครอบครัว ที่ยังมีทัศนะคติที่สดใส และปฏิกิริยาของครอบครัวเมื่อได้ข่าวเรื่องการเสียชีวิตของโมซาร์ท การเสียชีวิตของโมซาร์ทยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ใบมรณภาพของโมซาร์ทบันทึกไว้ว่าเขาเสียชีวิตเพราะ"ไข้ไทฟอยด์" และมีทฤษฎีมากมายที่พยายามอธิบายการเสียชีวิตให้ละเอียดมากขึ้น
โมซาร์ทเสียชีวิตในเวลาประมาณ 01.00 น. วันที่ 5 เดือนธันวาคม ปีค.ศ. 1791 ในขณะที่เขากำลังประพันธ์เพลงเรเควียม ที่ประพันธ์ไม่เสร็จ ตามตำนานที่เล่าลือ โมซาร์ทตายโดยที่ไม่เหลือเงินและถูกฝังในหลุมศพของคนอนาถา ร่างของโมซาร์ทถูกฝังอย่างเร่งรีบในที่ฝังศพสาธารณะ เพราะระหว่างที่นำศพไปนั้นเกิดมีพายุแรงและฝน ลูกเห็บตกอย่างหนัก ทำให้หีบศพถูกหย่อนไว้ร่วมกับศพคนยากจนอื่นๆ ไม่มีเครื่องหมายใดว่านี่คือศพของโมซาร์ท
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ โมซาร์ทไม่เป็นที่นิยมชมชอบอย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป เขายังคงมีงานที่มีรายได้ดีจากราชสำนัก และยังได้รับเงินอุดหนุนจำนวนมากจากส่วนอื่นๆของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกรุงปราก ยังมีจดหมายขอความช่วยเหลือทางการเงินของโมซาร์ทหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักฐานว่าเขาจนเพราะรายจ่ายเกินรายรับ ศพของเขาไม่ได้ถูกฝังในหลุมฝังศพรวม แต่ในสุสานของชุมชนตามกฎหมายของปีค.ศ. 1783 แม้ว่าหลุมศพดั้งเดิมในสุสานเซนต์มาร์กจะหายไป แต่ก็มีป้ายหลุมศพที่ตั้งไว้เป็นอนุสรณ์สถานในเซนทรัลไฟรด์ฮอฟ
ในปีค.ศ. 1809 คอนสแตนซ์ได้แต่งงานใหม่กับจอร์จ นีโคเลาส์ ฟอน นีสเสน นักการทูตชาวเดนมาร์ก (ชาตะค.ศ. 1761 มรณะค.ศ. 1826) ผู้ซึ่งหลงใหลคลั่งใคล้ในตัวโมซาร์ทอย่างมาก ถึงกับแต่งเรื่องราวเกินจริงจากจดหมายของโมซาร์ท และแต่งชีวประวัติของคีตกวีเอกอีกด้วย
โมซาร์ทมีชีวิตอยู่ตรงกับระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมัยรัตนโกสินทร์

 

ลุดวิจ ฟาน เบโทเฟน

ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่น (เยอรมัน: Ludwig van Beethoven; [ˈluːtvɪç fan ˈbeːt.hoːfn̩]; 16 ธันวาคม ค.ศ. 1770 - 26 มีนาคม ค.ศ. 1827) เป็นคีตกวีและนักเปียโนชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี
เบโธเฟ่นเป็นตัวอย่างของศิลปินยุคโรแมนติกผู้โดดเดี่ยว และไม่เป็นที่เข้าใจของบุคคลในยุคเดียวกันกับเขา ในวันนี้ เขาได้กลายเป็นคีตกวีที่ มีคนชื่นชมยกย่องและฟังเพลงของเขากันอย่างกว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง ตลอดชีวิตของเขามีอุปสรรคนานัปการที่ต้องฝ่าฟัน ทำให้เกิดความเครียดสะสมในใจเขา ในรูปภาพต่างๆ ที่เป็นรูปเบโธเฟน สีหน้าของเขาหลายภาพแสดงออกถึงความเครียด แต่ด้วยจิตใจที่แข็งแกร่งของเขา ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆในชีวิตของเขาได้ ตำนานที่คงอยู่นิรันดร์เนื่องจากได้รับการยกย่องจากคีตกวีโรแมนติกทั้งหลาย เบโธเฟ่นได้กลายเป็นแบบอย่างของพวกเขาเหล่านั้นด้วยความเป็นอัจฉริยะที่ไม่ มีใครเทียมทาน ซิมโฟนีของเขา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งซิมโฟนีหมายเลข 5 ซิมโฟนีหมายเลข 6 ซิมโฟนีหมายเลข 7 และ ซิมโฟนีหมายเลข 9) และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนที่เขาประพันธ์ขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนแชร์โตหมายเลข 4 และ หมายเลข 5) เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ก็มิได้รวมเอาความเป็นอัจฉริยะทั้งหมดของคีตกวีไว้ในนั้น

 

ประวัติ


บ้านเกิดของเบโธเฟ่นที่เมืองบอนน์

ภาพวาด ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่น ใน ค.ศ. 1783

ภาพวาด ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่น ใน ค.ศ. 1803
ไฟล์:Beetoven Mähler 1815.jpg
ภาพวาด ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่น ใน ค.ศ. 1815

ภาพวาด ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่น ใน ค.ศ. 1823
ลุดวิก ฟาน เบโธเฟ่นเกิดที่เมืองบอนน์ (ประเทศเยอรมนี) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1770 และได้เข้าพิธีศีลจุ่มในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1770 เป็นลูกชายคนรองของโยฮันน์ ฟาน เบโธเฟ่น (Johann van Beethoven) กับ มาเรีย มักเดเลนา เคเวริค (Maria Magdelena Keverich) ขณะที่เกิดบิดามีอายุ 30 ปี และมารดามีอายุ 26 ปี ชื่อต้นของเขาเป็นชื่อเดียวกับปู่ และพี่ชายที่ชื่อลุดวิกเหมือนกัน แต่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ครอบครัวของเขามีเชื้อสายเฟลมิช (จากเมืองเมเชเลนในประเทศเบลเยียม) ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าเหตุใด นามสกุลของเขาจึงขึ้นต้นด้วย ฟาน ไม่ใช่ ฟอน ตามที่หลายคนเข้าใจ
บิดาเป็นนักนักร้องในคณะดนตรีประจำราชสำนัก และเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ซ้ำยังติดสุรา รายได้เกินครึ่งหนึ่งของครอบครัวถูกบิดาของเขาใช้เป็นค่าสุรา ทำให้ครอบครัวยากจนขัดสน บิดาของเขาหวังจะให้เบโธเฟ่น ได้กลายเป็นนักดนตรีอัจฉริยะอย่าง โมซาร์ท นักดนตรีอีกคนที่โด่งดังในช่วงยุคที่เบโธเฟ่นยังเด็ก จึงเริ่มสอนดนตรีให้ใน ค.ศ. 1776 ขณะที่เบโธเฟ่นอายุ 5 ปี
แต่ด้วยความหวังที่ตั้งไว้สูงเกินไป (ก่อนหน้าเบโธเฟ่นเกิด โมซาร์ทสามารถเล่นดนตรีหาเงินให้ครอบครัวได้ตั้งแต่อายุ 6 ปี บิดาของเบโธเฟ่นตั้งความหวังไว้ให้เบโธเฟ่นเล่นดนตรีหาเงินภายในอายุ 6 ปีให้ได้เหมือนโมซาร์ท) ประกอบกับเป็นคนขาดความรับผิดชอบเป็นทุนเดิม ทำให้การสอนดนตรีของบิดานั้นเข้มงวด โหดร้ายทารุณ เช่น ขังเบโธเฟ่นไว้ในห้องกับเปียโน 1 หลัง , สั่งห้ามไม่ให้เบโธเฟ่นเล่นกับน้อง ๆ เป็นต้น ทำให้เบโธเฟ่นเคยท้อแท้กับเรื่องดนตรี แต่เมื่อได้เห็นสุขภาพมารดาที่เริ่มกระเสาะกระแสะด้วยวัณโรค ก็เกิดความพยายามสู้เรียนดนตรีต่อไป เพื่อหาเงินมาสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
ค.ศ. 1777 เบโธเฟ่นเข้าเรียนโรงเรียนสอนภาษาละตินสำหรับประชาชนที่เมืองบอนน์
ค.ศ. 1778 การฝึกซ้อมมานานสองปีเริ่มสัมฤทธิ์ผล เบโธเฟ่นสามารถเปิดคอนเสิร์ตเปียโนในที่สาธารณะได้เป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ขณะอายุ 7 ปี 3 เดือน ที่เมืองโคโลญจน์ (Cologne) แต่บิดาของเบโธเฟ่นโกหกประชาชนว่าเบโธเฟ่นอายุ 6 ปี เพราะอายุเบโธเฟ่นยิ่งน้อย ประชาชนจะยิ่งให้ความสนใจมากขึ้น ในฐานะนักดนตรีที่เก่งตั้งแต่เด็ก
หลังจากนั้น เบโธเฟ่นก็เรียนไวโอลินและออร์แกนกับอาจารย์หลายคน จนใน ค.ศ. 1781 เบโธเฟ่นได้เป็นศิษย์ของคริสเตียน กอตท์โลบ เนเฟ (Christian Gottlob Neefe) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สร้างความสามารถในชีวิตให้เขามากที่สุด เนเฟสอนเบโธเฟ่นในเรื่องเปียโนและการแต่งเพลง
ค.ศ. 1784 เบโธเฟ่นสามารถเข้าไปเล่นออร์แกนในคณะดนตรีประจำราชสำนัก ในตำแหน่งนักออร์แกนที่สองในคณะดนตรีประจำราชสำนัก มีค่าตอบแทนให้พอสมควร แต่เงินส่วนใหญ่ที่หามาได้ ก็หมดไปกับค่าสุราของบิดาเช่นเคย
ค.ศ. 1787 เบโธเฟ่นเดินทางไปยังเมืองเวียนนา(Vienna) เพื่อศึกษาดนตรีต่อ เขาได้เข้าพบโมซาร์ท และมีโอกาสเล่นเปียโนให้โมซาร์ทฟัง เมื่อโมซาร์ทได้ฟังฝีมือของเบโธเฟ่นแล้ว กล่าวกับเพื่อนว่าเบโธเฟ่นจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีต่อไป แต่อยู่เมืองนี้ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็ได้รับข่าวว่าอาการวัณโรคของมารดากำเริบหนัก จึงต้องรีบเดินทางกลับบอนน์ หลังจากกลับมาถึงบอนน์และดูแลมารดาได้ไม่นาน มารดาของเขาก็เสียชีวิตลงในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1787 ด้วยวัย 43 ปี เบโธเฟ่นเศร้าโศกซึมเซาอย่างรุนแรง ในขณะที่บิดาของเขาก็เสียใจไม่แพ้กัน แต่การเสียใจของบิดานั้น ทำให้บิดาของเขาดื่มสุราหนักขึ้น ไร้สติ จนในที่สุดก็ถูกไล่ออกจากคณะดนตรีประจำราชสำนัก เบโธเฟ่นในวัย 16 ปีเศษ ต้องรับบทเลี้ยงดูบิดาและน้องชายอีก 2 คน
ค.ศ. 1788 เบโธเฟ่นเริ่มสอนเปียโนให้กับคนในตระกูลบรอยนิงค์ เพื่อหาเงินให้ครอบครัว
ค.ศ. 1789 เบโธเฟ่นเข้าเป็นนักศึกษาไม่คิดหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยบอนน์
ค.ศ. 1792 เบโธเฟ่นตั้งรกรากที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เบโธเฟ่นมีโอกาสศึกษาดนตรีกับโจเซฟ ไฮเดิน หลังจากเขาเดินทางมาเวียนนาได้ 1 เดือน ก็ได้รับข่าวว่าบิดาป่วยหนักใกล้จะเสียชีวิต (มาเวียนนาครั้งก่อน อยู่ได้ครึ่งเดือนมารดาป่วยหนัก มาเวียนนาครั้งนี้ได้หนึ่งเดือนบิดาป่วยหนัก) แต่ครั้งนี้เขาตัดสินใจไม่กลับบอนน์ แบ่งหน้าที่ในบอนน์ให้น้องทั้งสองคอยดูแล และในปีนั้นเองบิดาของเบโธเฟ่นก็สิ้นใจลงโดยไม่มีเบโธเฟ่นกลับไปดูใจ แต่ทางเบโธเฟ่นเองก็ประสบความสำเร็จในการแสดงคอนเสิร์ตในฐานะนักเปียโนเอก และผู้ที่สามารถเล่นได้โดยคิดทำนองขึ้นมาได้สด ๆ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงขุนนางและครอบครัวของขุนนาง
ค.ศ. 1795 เขาเปิดการแสดงดนตรีในโรงละครสาธารณะในเวียนนา และแสดงต่อหน้าประชาชน ทำให้เบโธเฟ่นเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น
ค.ศ. 1796 ระบบการได้ยินของเบโธเฟ่นเริ่มมีปัญหา เขาเริ่มไม่ได้ยินเสียงในสถานที่กว้าง ๆ และเสียงกระซิบของผู้คน เขาตัดสินใจปิดเรื่องหูตึงนี้เอาไว้ เพราะในสังคมยุคนั้น ผู้ที่ร่างกายมีปัญหา(พิการ) จะถูกกลั่นแกล้ง เหยียดหยาม จนในที่สุดผู้พิการหลายคนกลายเป็นขอทาน ดังนั้น เขาต้องประสบความสำเร็จให้ได้เสียก่อนจึงจะเปิดเผยเรื่องนี้ จากนั้นเขาก็เริ่มประพันธ์บทเพลงขึ้นมา แล้วจึงหันเหจากนักดนตรีมาเป็นผู้ประพันธ์เพลง เขาสร้างสรรค์ผลงานที่มีแนวแตกต่างไปจากดนตรียุคคลาสสิคคือ ใช้รูปแบบยุคคลาสสิค แต่ใช้เนื้อหาจากจิตใจ ความรู้สึกในการประพันธ์เพลง จึงทำให้ผลงานเป็นตัวของตัวเอง เนื้อหาของเพลงเต็มไปด้วยการแสดงออกของอารมณ์อย่างเด่นชัด
ค.ศ. 1801 เบโธเฟ่นเปิดเผยเรื่องปัญหาในระบบการได้ยินให้ผู้อื่นฟังเป็นครั้งแรก แต่ครั้งนี้สังคมยอมรับ ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องปกปิดเรื่องอาการหูตึงอีก หลังจากนั้น ก็เป็นยุคที่เขาประพันธ์เพลงออกมามากมาย แต่เพลงที่เขาประพันธ์นั้นจะมีปัญหาตรงที่ล้ำสมัยเกินไป ผู้ฟังเพลงไม่เข้าใจในเนื้อหา แต่ในภายหลัง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเข้าใจในเนื้อเพลงของเบโธเฟ่น บทเพลงหลายเพลงเหล่านั้นก็เป็นที่นิยมล้นหลามมาถึงปัจจุบัน
เมื่อเบโธเฟ่นโด่งดังก็ย่อมมีผู้อิจฉา มีกลุ่มที่พยายามแกล้งเบโธเฟ่นให้ตกต่ำ จนเบโธเฟ่นคิดจะเดินทางไปยังเมืองคาสเซล ทำให้มีกลุ่มผู้ชื่นชมในผลงานของเบโธเฟ่มาขอร้องไม่ให้เขาไปจากเวียนนา พร้อมทั้งเสนอตัวให้การสนับสนุนการเงิน โดยมีข้อสัญญาว่าเบโธเฟ่นต้องอยู่ในเวียนนา ทำให้เขาสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ และผลิตผลงานตามที่ต้องการโดยไม่ต้องรับคำสั่งจากใคร
เบโธเฟ่นโด่งดังมากในฐานะคีตกวี อาการสูญเสียการได้ยินมีมากขึ้น แต่เขาพยายามสร้างสรรค์ผลงานจากความสามารถและสภาพที่ตนเป็นอยู่ มีผลงานชั้นยอดเยี่ยมให้กับโลกแห่งเสียงเพลงเป็นจำนวนมาก ผลงานอันโด่งดังในช่วงนี้ได้แก่ ซิมโฟนีหมายเลข 5 ที่เบโธเฟ่นถ่ายทอดท่วงทำนองออกมาเป็นจังหวะ สั้น - สั้น - สั้น - ยาว อาการไม่ได้ยินรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และ ซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่เขาประพันธ์ออกมาเมื่อหูหนวกสนิทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819 เป็นต้นมา รวมทั้งบทเพลงควอเต็ตเครื่องสายที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาก็ประพันธ์ออกมาในช่วงเวลานี้เช่นกัน
ในช่วงนี้ เบโธเฟ่นมีอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับหลานชายที่เขารับมาอุปการะ เขาถูกหาว่าเป็นคนบ้า และถูกเด็ก ๆ ขว้างปาด้วยก้อนหินเมื่อเขาออกไปเดินตามท้องถนน แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของเขาได้ แต่ภายหลังเขาก็ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกับหลานชายเป็นที่เรียบร้อย
ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้ที่เบโธเฟ่นเป็นมานานก็กำเริบหนัก หลังจากรักษาแล้ว ได้เดินทางมาพักฟื้นที่บ้านน้องชายบนที่ราบสูง แต่อารมณ์แปรปรวนก็ทำให้เขาทะเลาะกับน้องชายจนได้ เขาตัดสินใจเดินทางกลับเวียนนาในทันที แต่รถม้าที่นั่งมาไม่มีเก้าอี้และหลังคา เบโธเฟ่นทนหนาวมาตลอดทาง ทำให้เป็นโรคปอดบวม แต่ไม่นานก็รักษาหาย
12 ธันวาคม ค.ศ. 1826 โรคเรื้อรังในลำไส้และตับของเบโธเฟ่นกำเริบหนัก อาการทรุดลงตามลำดับ
26 มีนาคม ค.ศ. 1827 เบโธเฟ่นก็เสียชีวิตลง พิธีศพของเขาจัดขึ้นอย่างอลังการในโบสถ์เซนต์ ตรินิตี โดยมีผู้มาร่วมงานกว่า 20,000 คน ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานกลางในกรุงเวียนนา

รูปแบบทางดนตรีและนวัตกรรม

ในประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว ผลงานของเบโธเฟ่นแสดงถึงช่วงรอยต่อระหว่างยุคคลาสสิก (ค.ศ. 1750 - ค.ศ. 1810) กับ ยุคโรแมนติก (ค.ศ. 1810 - ค.ศ. 1900) ในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเขา เบโธเฟ่นได้นำเสนอทำนองหลักที่เน้นอารมณ์รุนแรงในท่อนโหมโรง เช่นเดียวกับในอีกสี่ท่อนที่เหลือ (เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อยในผลงานประพันธ์ช่วงวัยเยาว์ของเขา) ช่วงต่อระหว่างท่อนที่สามกับท่อนสุดท้าย เป็นทำนองหลักของอัตทากาโดยไม่มีการหยุดพัก และท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 ได้มีการนำการขับร้องประสานเสียงมาใช้ในบทเพลงซิมโฟนีเป็นครั้งแรก (ในท่อนที่สี่) ผลงานทั้งหลายเหล่านี้นับเป็นนวัตกรรมทางดนตรีอย่างแท้จริง
เขาได้ประพันธ์โอเปราเรื่อง "ฟิเดลิโอ" โดยใช้เสียงร้องในช่วงความถี่เสียงเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีในวงซิมโฟนี โดยมิได้คำนึงถึงขีดจำกัดของนักร้องประสานเสียงแต่อย่างใด
หากจะนับว่าผลงานของเขาประสบความสำเร็จต่อสาธารณชน นั่นก็เพราะแรงขับทางอารมณ์ที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในงานของเขา
ในแง่ของเทคนิคทางดนตรีแล้ว เบโธเฟ่นได้ใช้ทำนองหลักหล่อเลี้ยงบทเพลงทั้งท่อน และนับเป็นผลสัมฤทธิ์ทางดนตรีที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มข้นทางจังหวะที่มีความแปลกใหม่อยู่ในนั้น เบโธเฟ่นได้ปรับแต่งทำนองหลัก และเพิ่มพูนจังหวะต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการของบทเพลงเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ
เขาใช้เทคนิคนี้ในผลงานเลื่องชื่อหลายบท ไม่ว่าจะเป็นท่อนแรกของเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 4 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรก) ท่อนแรกของซิมโฟนีหมายเลข 5 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรกเช่นกัน) ท่อนที่สองของซิมโฟนีหมายเลข 7 (ในจังหวะอนาเปสต์) การนำเสนอความสับสนโกลาหลของท่วงทำนองในรูปแบบแปลกใหม่ตลอดเวลา ความเข้มข้นของท่วงทำนองตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ย้อนกลับมาสู่โสตประสาทของ ผู้ฟังอยู่เรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้เกิดความประทับใจต่อผู้ฟังอย่างถึงขีดสุด
เบโธเฟ่นยังเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ศึกษาศาสตร์ของวงออร์เคสตราอย่าง พิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบทเพลง การต่อบทเพลงเข้าด้วยกันโดยเปลี่ยนรูปแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโน้ตแผ่นที่เขาเขียนให้เครื่องดนตรีชิ้นต่าง ๆ นั้น ได้แสดงให้เห็นวิธีการนำเอาทำนองหลักกลับมาใช้ในบทเพลงเดียวกันในรูปแบบที่ มีเอกลักษณ์ โดยมีการปรับเปลี่ยนเสียงประสานเล็กน้อยในแต่ละครั้ง การปรับเปลี่ยนโทนเสียงและสีสันทางดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง เปรียบได้กับการเริ่มบทสนทนาใหม่ โดยที่ยังรักษาจุดอ้างอิงของความทรงจำเอาไว้
สาธารณชนในขณะนี้จะรู้จักผลงานซิมโฟนีและคอนแชร์โตของเบโธเฟ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยคนที่ทราบว่าผลงานการคิดค้นแปลกใหม่ที่สุดของเบโธเฟ่นนั้นได้แก่แชมเบอร์มิวสิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนาตาสำหรับเปียโน 32 บท และบทเพลงสำหรับวงควอเต็ตเครื่องสาย 16 บท นั้นนับเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางดนตรีอันเจิดจรัส --- โซนาตาสำหรับเครื่องดนตรีสองหรือสามชิ้นนับเป็นผลงานสุดคลาสสิก --- บทเพลงซิมโฟนีเป็นผลงานคิดค้นรูปแบบใหม่ --- ส่วนบทเพลงคอนแชร์โตนั้น ก็นับว่าควรค่าแก่การฟัง

ผลงานซิมโฟนี

โจเซฟ ไฮเดินได้ประพันธ์ซิมโฟนีไว้กว่า 100 บท โมซาร์ทประพันธ์ ไว้กว่า 40 บท หากจะนับว่ามีคีตกวีรุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว เบโธเฟ่นไม่ได้รับถ่ายทอดมรดกด้านความรวดเร็วในการประพันธ์มาด้วย เพราะเขาประพันธ์ซิมโฟนีไว้ เพียง 9 บทเท่านั้น และเพิ่งจะเริ่มประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 10 แต่สำหรับซิมโฟนีทั้งเก้าบทของเบโธเฟ่นนั้น ทุกบทต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ซิมโฟนีสองบทแรกของเบโธเฟ่นได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากดนตรีในยุคคลาสสิก อย่างไรก็ดี ซิมโฟนีหมายเลข 3 ที่มีชื่อเรียกว่า "อิรอยก้า" จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเรียบเรียงวงออร์เคสตราของ เบโธเฟ่น ซิมโฟนีบทนี้แสดงถึงความทะเยอทะยานทางดนตรีมากกว่าบทก่อน ๆ เฮโรอิกโดดเด่นด้วยความสุดยอดของเพลงทุกท่อน และการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตรา เพราะแค่ท่อนแรกเพียงอย่างเดียวก็มีความยาวกว่าซิมโฟนีบทอื่น ๆ ที่ประพันธ์กันในสมัยนั้นแล้ว ผลงานอันอลังการชิ้นนี้ได้ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นโปเลียน โบนาปาร์ต และส่งเบโธเฟ่นขึ้นสู่ตำแหน่งสุดยอดสถาปนิกทางดนตรี และเป็นคีตกวีคนแรกแห่งยุคโรแมนติก
แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นซิมโฟนีที่สั้นกว่าและคลาสสิกกว่าซิมโฟนีบทก่อนหน้า ท่วงทำนองของโศกนาฏกรรมในท่อนโหมโรงทำ ให้ซิมโฟนีหมายเลข 4 เป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการทางรูปแบบของเบโธเฟ่น ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยซิมโฟนีสุดอลังการสองบทที่ถูกประพันธ์ขึ้นในคืนเดียว กัน อันได้แก่ซิมโฟนีหมายเลข 5 และซิมโฟนีหมายเลข 6 - หมายเลข 5 นำเสนอทำนองหลักเป็นโน้ตสี่ตัว สั้น - สั้น - สั้น - ยาว สามารถเทียบได้กับซิมโฟนีหมายเลข 3 ในแง่ของความอลังการ และยังนำเสนอรูปแบบทางดนตรีใหม่ด้วยการนำทำนองหลักของโน้ตทั้งสี่ตัวกลับมา ใช้ตลอดทั้งเพลง ส่วนซิมโฟนีหมายเลข 6 ที่มีชื่อว่า ปาสตอราล นั้นชวนให้นึกถึงธรรมชาติที่เบโธเฟ่นรักเป็นหนักหนา นอกเหนือจากช่วงเวลาที่เงียบสงบชวนฝันที่ผู้ฟังสามารถรู้สึกได้เมื่อฟัง ซิมโฟนีบทนี้แล้ว มันยังประกอบด้วยท่อนที่แสดงถึงพายุโหมกระหน่ำที่เสียงเพลงสามารถถ่ายทอดออก มาได้อย่างเหมือนจริงที่สุดอีกด้วย
แม้ว่าซิมโฟนีหมายเลข 7 จะมีท่อนที่สองที่ใช้รูปแบบของเพลงมาร์ชงานศพ แต่ก็โดดเด่นด้วยรูปแบบที่สนุกสนานและจังหวะที่รุนแรงเร่าร้อนในท่อนจบของเพลง ริชาร์ด วากเนอร์ได้กล่าวถึงซิมโฟนีบทนี้ว่า เป็น "ท่อนจบอันเจิดจรัสสำหรับการเต้นรำ" ซิมโฟนีบทต่อมา (ซิมโฟนีหมายเลข 8) เป็นการย้อนกลับมาสู่รูปแบบคลาสสิก ด้วยท่วงทำนองที่เปล่งประกายและสื่อถึงจิตวิญญาณ
ท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 เป็นซิมโฟนีบทสุดท้ายที่เบโธเฟ่นประพันธ์จบ นับเป็นอัญมณีแห่งซิมโฟนีทั้งหลาย ประกอบด้วยบทเพลงสี่ท่อน รวมความยาวกว่าหนึ่งชั่วโมง และมิได้ยึดติดกับรูปแบบของโซนาตา แต่ละท่อนของซิมโฟนีบทนี้นับได้ว่าเป็นผลงานชั้นครูในตัวเอง แสดงให้เห็นว่าเบโธเฟ่นได้หลุดพ้นจากพันธนาการของยุคคลาสสิก และได้ค้นพบรูปแบบใหม่ในการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตราในที่สุด ในท่อนสุดท้าย เบโธเฟ่นได้ใส่บทร้องประสานเสียงและวงควอเต็ตประสานเสียงเข้าไป เพื่อขับร้อง "บทเพลงแห่งความอภิรมย์" ซึ่งเป็นบทกวีของ เฟรดริก ฟอน ชิลเลอร์ บทประพันธ์ชิ้นนี้ได้เรียกร้องให้มีความรักและภราดรภาพในหมู่มวลมนุษย์ และซิมโฟนีบทนี้ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก "บทเพลงแห่งความอภิรมย์" ยังได้ถูกเลือกให้เป็นบทเพลงประจำชาติของยุโรปอีกด้วย
นอกเหนือจากซิมโฟนีแล้ว เบโธเฟ่นยังได้ประพันธ์ คอนแชร์โตสำหรับไวโอลิน ที่สุดแสนไพเราะไว้อีกด้วย และได้ถ่ายทอดบทเพลงเดียวกันออกมาเป็นคอนแชร์โตสำหรับเปียโน ที่ใช้ชื่อว่า คอนแชร์โตหมายเลข 6 นอกจากนั้นก็ยังมี คอนแชร์โตสามชิ้นสำหรับไวโอลิน เชลโล และ เปียโน และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนอีก 5 บท ซึ่งในบรรดาคอนแชร์โตทั้งห้าบทนี้ คอนแชร์โตหมายเลข 5 สำหรับเปียโน นับว่าเป็นรูปแบบของเบโธเฟ่นที่เด่นชัดที่สุด แต่ก็ไม่ควรลืมช่วงเวลาอันเข้มข้นในท่อนที่สองของคอนแชร์โตหมายเลข 4 สำหรับเปียโน
เบโธเฟ่นยังได้ประพันธ์เพลงโหมโรงอันเยี่ยมยอดไว้หลายบท (เลโอนอเร่, ปิศาจแห่งโพรเมเธอุส) ฟ็องเตซีสำหรับเปียโน วงขับร้องประสานเสียง และวงออร์เคสตราอีกหนึ่งบท ซึ่งทำนองหลักทำนองหนึ่งของเพลงนี้ได้กลายมาเป็นต้นแบบของ "บทเพลงแห่งความอภิรมย์"
นอกจากนี้ยังมีเพลงสวดมิสซา ซึ่งมี มิสซา โซเลมนิส โดดเด่นที่สุด ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานดนตรีขับร้องทางศาสนาที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ท้ายสุด เบโธเฟ่นได้ฝากผลงานประพันธ๋โอเปราเรื่องแรกและเรื่องเดียวไว้ มีชื่อเรื่องว่า ฟิเดลิโอ นับเป็นผลงานที่เขาผูกพันมากที่สุด อีกทั้งยังทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจไปมากที่สุดอีกด้วย

บทประพันธ์ที่สำคัญในยุคคลาสสิก

  • Orfeo and Eurydice - กลุ๊ค
  • Symphony No.104 - ไฮเดิน
  • The Creation (Oratorio) - ไฮเดิน
  • String Quartet in G Major, Op.64 No.4 - ไฮเดิน
  • Symphony No.41 in C Major "Jupiter" K.551 - โมซาร์ท
  • Piano Concerto in C Major, K.467 - โมซาร์ท
  • String Quartet in G Major, K.387 - โมซาร์ท
  • The Marriage of Figaro (Opera) - โมซาร์ท
  • Don Giovanni (Opera) - โมซาร์ท
  • Thr Magic Flute (Opera) - โมซาร์ท
  • Requiem Mass, K.626 - โมซาร์ท
  • Piano Sonata in C Major, Op.2 No.3 - เบโธเฟน
  • Symphony No.1,2 - เบโธเฟน
  • Sonata in D Major, K.119 - สกาลัตตี
  • Concerto for Harpsichord or Piano and Strings in E-flat Major, Op.7 No.5 - บาค

สรุป

กวีในยุดนี้มีเอกเอกลักษณ์ที่สำคัญฟังแล้วจะรู้ข้อแตกต่างข้อแต่ล่ะยุดถึงเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนแต่บทเพลงเหล่าจะอยู่ตลอดไป

 


 

 

 


10 ความคิดเห็น: